วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559

17:43

งบการเงินส่วนตัว วางแผนชีวิตของคุณวันนี้


การทำงบการใช้จ่ายอาจจะดูเป็นเรื่องปวดหัวสำหรับเราทุกคนนะคะ จะให้มานั่งแยกประเภทว่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ก็เยอะเกิน ไหนจะค่าเช่า ค่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ เงินลงทุน ค่าการศึกษา ค่าเอ็นเตอร์เทน ค่าอาหาร ค่าโน่นนี่นั่นอีกเยอะไปหมด ไหนจะต้องมาแบ่งเป็นประเภทย่อยลงไปอีก สรุป คนทำงงเอง จริงมั้ยคะ
นอกจากนั้น ค่าใช้จ่ายแต่ละประเภท ก็ใช่ว่าจะเท่ากันทุกเดือน ค่าน้ำ ค่าไฟ ยังไงก็ไม่เท่ากันทุกเดือน ค่าซื้อของเข้าบ้าน ค่าอาหาร ค่าของใช้ในบ้าน บางเดือนน้อย บางเดือนเยอะไม่เท่ากัน แล้วจะทำงบยังไง ว่าเดือนนึงเราต้องใช้เท่าไหร่ ต้องกันเงินไว้เท่าไหร่ถึงจะพอ แล้วแต่ละเดือนก็มีเรื่องให้คิดเยอะอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมานั่งทำงบประมาณรายเดือนอีกด้วย เรามาดูกันค่ะ ว่าการจัดทำงบประมาณนั้นมี่ความสำคัญอย่างไร
การจัดทำงบประมาณ หรือ budget คือ งบประมาณส่วนบุคคล คือ การวางแผนการประมาณรายได้ รายจ่ายล่วงหน้า เพื่อทำการจัดสรรเงินที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยมีการกำหนดแหล่งที่มาของรายได้ วิธีการจัดหมวดหมู่ของรายจ่าย และมีการตรวจสอบควบคุมรายจ่ายโดยจัดสรรเป็นงบประมาณตามเหมาะสมได้
การทำงบประมาณการเงินส่วนบุคคล เพื่อวางแผนจัดสรรเงินที่เรามีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นไปอย่างประสบความสำเร็จ ทำให้เราสามารถมีเงินใช้จ่าย มีเงินเก็บออม มีเงินลงทุนเพื่อความมั่นคงด้านการเงินในอนาคตของเรา และครอบครัวต่อไป
ทำส่วนบุคคล ใครว่าต้องเป็นเรื่องยุ่งยาก
วันนี้เรามาดูวิธีการจัดการงบการเงินส่วนตัว แบบที่ หนี้ก็จ่ายครบ เงินก็มีใช้ กันดีกว่าค่ะ วิธีคิดง่ายๆ คือการวางงบแบบ 50/30/10/10 เป็นวิธีการแบ่งเงินเดือนออกเป็น 4 ส่วน แต่ละส่วนก็จะมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป เพื่อให้เราสามารถนำเงินมาใช้จ่ายได้อย่างไม่ขาดมือนั่นเองค่ะ
วิธีการจัดการด้านการเงินแบบนี้ทั้งยืดหยุ่น และสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย แต่ช่วยทำให้คุณมีเป้าหมายด้านการเงินชัดเจน และไม่หลุดออกนอกวงโคจรค่ะ มาดูวิธีการกันเลยค่ะ
1. 50% เป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน
เราทุกคนต่างก็รอวันนั้นของเดือนจริงมั้ยคะ วันเงินเดือนออก การแบ่งเงินก้อนแรกง่ายๆ คือการนำยอดเงินเดือน หลังหักภาษี หลังหักเงินส่งกองทุนเลี้ยงชีพ (เพราะบางบริษัทมีบริการนี้ให้พนักงาน) มาหารสองค่ะ
ตัวอย่าง 
เงินเดือน 20,000 หลังหักประกันสังคม 4% (20000*4/100=800) เหลือ 20000-800 = 19,200 บาท
ยกยอด 19,200 บาท แบ่งครึ่ง ได้แก่ 19200/2 = 9,600 บาท
พอได้อย่างนี้แล้ว ก็ให้นำเงินจำนวนนี้ที่เราแบ่งไว้สำหรับจ่ายค่าเช่า ค่าเดินทาง ค่าอาหารที่ใช้จ่ายรายเดือน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ ที่เป็นรายจ่ายรายเดือนของเราทั้งหมดค่ะ ไม่ต้องห่วงค่ะ สูตรการทำงบประมาณแบบนี้เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามจำเป็นนะคะ เรามาดูส่วนต่อไปกันก่อนค่ะ
2. 30% เพื่อการปลดหนี้
สิ่งต่อมาที่จะต้องคิดหลังจากได้เงินเดือนอีกอย่างก็คือ ฉันจะต้องจ่ายหนี้ใครบ้าง ถูกมั้ยคะ เงินส่วนนี้เป็นเงินที่คุณจะนำมาจ่ายหนี้นั่นเองค่ะ
ตัวอย่าง
30% ของ 19,200 บาท เท่ากับ 19200*30/100 = 5,760 บาท
เงินจำนวนนี้เป็นส่วนที่เราจะต้องนำไปใช้จ่ายค่าหนี้บัตรเครดิต ค่าหวยป้าปากซอย ฯลฯ
3. 10% เพื่อการออม
จะลืมการเตรียมการเพื่ออนาคตของเราไม่ได้ค่ะ การวางแผนเผื่ออนาคตเป็นสิ่งสำคัญนะคะ ดังนั้นเราก็จำเป็นจะต้องมีเงินส่วนหนึ่งที่เรากันไว้เพื่อเป็นการออมเงินเพื่ออนาคตของเราด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเพื่อทริปต่างประเทศที่เราฝันไว้ เก็บเงินซื้อรถ เก็บเงินเพื่อออมหรือลงทุนกินดอกเบี้ยก็รวมอยู่ในส่วนนี้ค่ะ
โดยเราสามารถแบ่งย่อยเงินส่วนนี้ออกเป็นหลายๆ กระปุกได้ อาจจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งฝากบัญชีเพื่อการออม อีกส่วนอาจจะนำไปลงทุนแบบ DCA อีกส่วนอาจจะเก็บเพื่อทริปในฝันของเรา เป็นต้นค่ะ
ตัวอย่าง
10% ของ 19,200 บาท เท่ากับ 19200*10/100 = 1,920 บาท 
แบ่งเป็น 3 ส่วนเพื่อแยกเก็บตามจุดประสงค์ 1,920/3 = 640 บาท
4. 10% เพื่อให้รางวัลตัวเอง
เงินก้อนนี้ตามชื่อเลยค่ะ เอาไว้ให้รางวัลตัวเอง งบไปกินจิ้มจุ่ม เก็บเงินซื้ออุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ที่ต้องการ ซื้อเสื้อผ้า ซื้อกระเป๋า ซื้อของให้ตัวเอง หรือค่ากินค่าเที่ยวก็อยู่ในจำนวนนี้ค่ะ ทำงานหนักมาทั้งเดือน จะไม่ให้รางวัลตัวเองหน่อย ก็เดี๋ยวจะหมดกำลังใจกันซะก่อนนะคะ
ตัวอย่าง
10% ของ 19,200 บาท เท่ากับ 19200*10/100 = 1,920 บาท
สิ่งสำคัญคือ ระบบการจัดสรรปันส่วนรายได้แบบนี้ไม่ได้เป็นเรื่องตายตัวค่ะ คุณสามารถจัดแบ่งปรับเปลี่ยนได้ตามที่คุณเห็นว่าเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคุณ
หากคุณมีหนี้เยอะ แทนที่จะแบ่ง 30% เพื่อใช้หนี้ก็อาจจะแบ่งเยอะหน่อยเพื่อนำไปปลดหนี้ก็ได้เหมือนกัน เราอาจจะเปลี่ยนสูตรเป็น 50/40/5/5 แทนเพราะว่าเราต้องการจะใช้หนี้ให้หมดเร็วๆ ก็ได้เหมือนกันค่ะ
ตัวอย่าง
สูตร 50/40/5/5
แบ่งเงิน 50% เป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน 
แบ่ง 40% สำหรับการใช้หนี้ เงิน
เก็บออมลงทุนอาจจะลดเหลือ 5% 
แล้วส่วนให้รางวัลตัวเองลดเหลือ 5%
เห็นมั้ยคะว่าการใช้สูตรนี้ยืดหยุ่นแค่ไหน การทำงบการเงินเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรทำนะคะ แต่ว่ามันไม่ได้จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องยุ่งยากเสมอไปค่ะ ลองนำสูตรดังกล่าวไปปรับใช้งานดูกับชีวิตประจำวันได้เลยค่ะ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น